เลิกเปรียบครูว่า‘เรือจ้าง’เสียทีเถอะ : โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

เลิกเปรียบครูว่า‘เรือจ้าง’เสียทีเถอะ : โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยงเดือนกันยายนทั้งเดือนเป็นเทศกาลจัดงานเกษียณอายุราชการของข้าราชการ ที่กระแสแรงที่สุดคือข้าราชการครู ผู้เขียนสังเกตพบว่าคำว่า “เรือจ้างวางพาย” เป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในวันเลี้ยงเกษียณกันจนเป็นคำยอดฮิตติดชาร์ตมาหลายปีแล้ว และพยากรณ์ว่าน่าจะใช้กันไปอีกหลายปีผู้เขียนรู้สึกไม่ชอบคำว่า “เรือจ้าง” และคำว่า “แม่พิมพ์” เอาเสียเลย ไม่ชอบมานานแล้ว และไม่เคยใช้ 2 คำนี้เปรียบในความหมายที่หมายถึงครู ทั้งในการพูด ในการเขียน ในการบรรยายต่างๆ และในการสอนของตนเองที่เป็นผู้สอนมาเกิน 20 ปีแล้ว คำเปรียบว่า “แม่พิมพ์” เหมือนจะพอฟังได้บ้าง แต่คำว่า “เรือจ้าง” ผู้เขียนฟังไม่ได้มาตลอด“เรือจ้าง” เป็นคำที่เสียดหูเสียดใจผู้เขียนมาตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก ขอโฟกัสที่คำว่า “จ้าง” ถ้าเราเปรียบครูเป็น “เรือ” ก็น่าจะสมเหตุสมผล ทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรมของประเทศไทยที่อดีตนั้นเราใช้เรือเป็นยานพาหนะหลักในการสัญจรไปมา เพราะสภาพภูมิศาสตร์เราเป็นเช่นนั้น เมืองหลวงของเราจึงได้ชื่อว่าเป็น “เวนิสแห่งตะวันออก” มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนกรุงรัตนโกสินทร์ มีนัยว่าเป็นเมืองแห่งสายน้ำ คนไทยในอดีตจึงผูกพันกับเรือแต่คำว่า “เรือจ้าง” ไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบว่าหมายถึงครู แม้ครูรับเงินเดือนที่ในบริบทนี้หมายถึง “ค่าจ้าง” ก็ตามผู้แจวเรือจ้าง พายเรือจ้าง หรือถือหางเสือเรือจ้างก็ตามใจ ย่อมหวังซึ่ง “ค่าจ้าง” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่ควรจะเปรียบว่าครูเป็นเรือจ้างอยู่ตรงประเด็นที่ “เจ้าของเรือจ้างย่อมมีความประสงค์ซึ่งค่าจ้างเป็นหลัก” ย่อมต่างจากครู แม้ครูเป็นอาชีพ และก็ต้องการเงินเดือนนั่นแหละ แต่เงินเดือนครูไม่ควรถูกเรียกว่าค่าจ้างส่วนที่นักเรียนชูป้ายประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากปล่อยให้ครูใช้ “อำนาจนิยม” ในโรงเรียนขัดขวางการแสดงออกทางประชาธิปไตยอยู่ตอนนี้ โดยชูป้ายข้อความว่า “ค่าเทอมหนูก็เงินเดือนครูใช่ป่าวคะ” ก็ให้นักเรียนยกป้ายไปเถิด อย่าได้ไปโต้แย้งเขาให้เสียๆ หายๆ เลย เขาเป็นเด็กถูกมั่งผิดมั่ง ผู้ใหญ่เราก็ไม่ได้ถูกทั้งหมดเลย การที่เขากล้าแสดงความคิดเห็นทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เราควรชมเขา ไม่ควรห้ามคือเหตุผลประการแรกที่ผู้เขียนคิดว่าคำเปรียบนี้ทั้งไม่ถูกและไม่เหมาะประการต่อไป ผู้เป็นคิดว่าเจ้าของเรือจ้างไม่จำเป็นต้องมีความผูกพันอันใดต่อผู้โดยสารเรือจ้าง ในเมื่อมี “ค่าจ้าง” เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน โปรดสังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่า “ผูกพัน” ไม่ใช้คำว่า “บุญคุณ” เนื่องจากผู้เขียนคิดว่าบุญคุณนั้นเป็นจิตสำนึกของลูกศิษย์ที่เป็นผู้รับ ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องของครู ซึ่งเป็นผู้ให้ (ครูทุกคนเรียกร้องบุญคุณจากลูกศิษย์ไม่ได้ เป็นสิทธิและเป็นจิตสำนึกของเขาที่เขาจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็แล้วแต่) ในเมื่อเป็นเรือจ้างจะไปมีความผูกพันอะไรกันมากมาย จ่ายค่าโดยสาร เดินลงนั่งในเรือ ถึงฝั่งก็เดินขึ้นฝั่งไปก็จบกันไป ซึ่งไม่เหมือน “ความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์” ที่มีความผูกพันทางใจกันมากกว่านั้นยิ่งนัก ผู้เขียนคิดว่าความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์เป็นความผูกพันตลอดชีวิต นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้ศิษย์ของตนเองคิดเช่นนี้ แต่มันเป็นในทางกลับกันที่ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองผูกพันกับครูและลูกศิษย์ของตัวเองเช่นนั้น ต่อครูทุกวันนี้ก็ยังได้รับคำสั่งคำสอน คำชี้แนะจากครู ทั้งๆ ที่ครูหลายคนของผู้เขียนเกษียณกันไปเกือบหมดแล้ว บางคนก็ล้มหายตายจากแล้ว ก็ยังรู้สึกผูกพันทางใจอยู่ คงผูกพันกันจนกว่าเราจะตายไปอีกข้างหนึ่งฉะนั้นงานเกษียณของครูที่ขี้นป้าย หรือสกรีนเสื้อที่ระลึกว่า “เรือจ้างวางพาย” นั้น ผู้เขียนแสลงหู แสลงตามาก เกษียณแล้วถึงขนาดกับต้อง “วางพาย” เลยเชียวหรือ? หน้าที่ครูจบกันที่เกษียณหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คำว่า “วางพาย” ก็เหมาะแล้วกับคำว่า “เรือจ้าง”ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลว่าใครเป็นบุคคลต้นคำพูด “ครูคือเรือจ้าง” ยังไม่พบเจอข้อมูล ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.2555 มีคำว่า “เรือจ้าง” บรรจุไว้ ให้ความหมายไม่เกี่ยวข้องกับครูแต่อย่างใดเลย แต่ที่แน่ๆ ทั้งข้อมูลเชิงเอกสารและข้อมูลจากการสัมภาษณ์พระเถระที่เคารพนับถือรูปหนึ่งที่มีฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นพุทธศาสนบัณฑิต และมหาบัณฑิตทางด้านภาษาศาสตร์ ตำแหน่งด้านการปกครองเป็นเจ้าคณะตำบล ได้ข้อมูลมาว่ามีหลักฐานในนาวาสูตร (พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ว่า พระพุทธเจ้าทรงเปรียบครูว่าเป็น “คนพายเรือ” ทรงหมายความว่าคนที่เป็นครูสอนคนอื่นต้องมีคุณธรรม เป็นพหูสูต เป็นที่รักเคารพของศิษย์ มีวิจารณญาณ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงปฏิบัติธรรมถูกหลักการและเป้าหมาย ฉลาด รู้แจ้ง ทรงเปรียบเหมือนคนพายเรือที่มีหน้าที่พาคนอื่นข้ามฝั่ง การสามารถพาคนอื่นข้ามกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ ต้องเป็นคนมีความสามารถ มีความพร้อมในการพายการถ่อ และรู้วิธีการนำเรือฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว จนสามารถนำคนข้ามถึงฝั่งได้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคำว่า “จ้าง” น่าจะมีการนำมาเติมกันเองภายหลัง นอกจากนี้และค้นพบข้อมูลว่า ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่าครูเป็น “กัลยาณมิตร” ของศิษย์ซึ่ง คุณมีสมบัติ 7 ประการคือ1.เป็นที่รักของศิษย์ ทำตนให้ศิษย์รัก อยากเข้าใกล้ เข้าไปปรึกษาไต่ถาม2.เป็นที่เคารพ มีความประพฤติดี เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย3.เป็นที่น่าเจริญใจ คือเป็นที่ภาคภูมิใจของศิษย์ว่าตนเป็นศิษย์มีครู และมีครูดี4.รู้จักพูดให้ได้ผล สอนวิชาการแจ่มแจ้ง และพร่ำสอนให้ศิษย์เป็นคนดี5.ทนต่อถ้อยคำ คืออดทนในการพร่ำสอนศิษย์ อดทนที่จะคอยรับฟังปัญหาของศิษย์6.ทำเรื่องยากให้ง่าย วิชาการยากๆ มีวิธีสอนให้เข้าใจง่าย รวมถึงเรื่องง่ายๆ ที่คนมองข้ามก็ชี้ให้เห็นความสำคัญและคุณค่าได้7.ไม่ชักจูงศิษย์ไปในทางต่ำ คือไม่ชักนำศิษย์ทำในสิ่งที่ไม่ดี หรือเรื่องเหลวไหลอีกข้อมูลหนึ่ง ขออ้างข้อความในตำรา “จิตวิทยาการศึกษา” ของศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ โค้วตระกูล อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ว่า “คำว่า ‘เร

กรกฎาคม 30, 2023 - 18:17
 0  30
เลิกเปรียบครูว่า‘เรือจ้าง’เสียทีเถอะ : โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

เลิกเปรียบครูว่า‘เรือจ้าง’เสียทีเถอะ : โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง

เดือนกันยายนทั้งเดือนเป็นเทศกาลจัดงานเกษียณอายุราชการของข้าราชการ ที่กระแสแรงที่สุดคือข้าราชการครู ผู้เขียนสังเกตพบว่าคำว่า “เรือจ้างวางพาย” เป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในวันเลี้ยงเกษียณกันจนเป็นคำยอดฮิตติดชาร์ตมาหลายปีแล้ว และพยากรณ์ว่าน่าจะใช้กันไปอีกหลายปี

ผู้เขียนรู้สึกไม่ชอบคำว่า “เรือจ้าง” และคำว่า “แม่พิมพ์” เอาเสียเลย ไม่ชอบมานานแล้ว และไม่เคยใช้ 2 คำนี้เปรียบในความหมายที่หมายถึงครู ทั้งในการพูด ในการเขียน ในการบรรยายต่างๆ และในการสอนของตนเองที่เป็นผู้สอนมาเกิน 20 ปีแล้ว คำเปรียบว่า “แม่พิมพ์” เหมือนจะพอฟังได้บ้าง แต่คำว่า “เรือจ้าง” ผู้เขียนฟังไม่ได้มาตลอด

“เรือจ้าง” เป็นคำที่เสียดหูเสียดใจผู้เขียนมาตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก ขอโฟกัสที่คำว่า “จ้าง” ถ้าเราเปรียบครูเป็น “เรือ” ก็น่าจะสมเหตุสมผล ทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรมของประเทศไทยที่อดีตนั้นเราใช้เรือเป็นยานพาหนะหลักในการสัญจรไปมา เพราะสภาพภูมิศาสตร์เราเป็นเช่นนั้น เมืองหลวงของเราจึงได้ชื่อว่าเป็น “เวนิสแห่งตะวันออก” มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนกรุงรัตนโกสินทร์ มีนัยว่าเป็นเมืองแห่งสายน้ำ คนไทยในอดีตจึงผูกพันกับเรือ

แต่คำว่า “เรือจ้าง” ไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบว่าหมายถึงครู แม้ครูรับเงินเดือนที่ในบริบทนี้หมายถึง “ค่าจ้าง” ก็ตาม

ผู้แจวเรือจ้าง พายเรือจ้าง หรือถือหางเสือเรือจ้างก็ตามใจ ย่อมหวังซึ่ง “ค่าจ้าง” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่ควรจะเปรียบว่าครูเป็นเรือจ้างอยู่ตรงประเด็นที่ “เจ้าของเรือจ้างย่อมมีความประสงค์ซึ่งค่าจ้างเป็นหลัก” ย่อมต่างจากครู แม้ครูเป็นอาชีพ และก็ต้องการเงินเดือนนั่นแหละ แต่เงินเดือนครูไม่ควรถูกเรียกว่าค่าจ้าง

ส่วนที่นักเรียนชูป้ายประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากปล่อยให้ครูใช้ “อำนาจนิยม” ในโรงเรียนขัดขวางการแสดงออกทางประชาธิปไตยอยู่ตอนนี้ โดยชูป้ายข้อความว่า “ค่าเทอมหนูก็เงินเดือนครูใช่ป่าวคะ” ก็ให้นักเรียนยกป้ายไปเถิด อย่าได้ไปโต้แย้งเขาให้เสียๆ หายๆ เลย เขาเป็นเด็กถูกมั่งผิดมั่ง ผู้ใหญ่เราก็ไม่ได้ถูกทั้งหมดเลย การที่เขากล้าแสดงความคิดเห็นทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เราควรชมเขา ไม่ควรห้าม

คือเหตุผลประการแรกที่ผู้เขียนคิดว่าคำเปรียบนี้ทั้งไม่ถูกและไม่เหมาะ

ประการต่อไป ผู้เป็นคิดว่าเจ้าของเรือจ้างไม่จำเป็นต้องมีความผูกพันอันใดต่อผู้โดยสารเรือจ้าง ในเมื่อมี “ค่าจ้าง” เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน โปรดสังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่า “ผูกพัน” ไม่ใช้คำว่า “บุญคุณ” เนื่องจากผู้เขียนคิดว่าบุญคุณนั้นเป็นจิตสำนึกของลูกศิษย์ที่เป็นผู้รับ ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องของครู ซึ่งเป็นผู้ให้ (ครูทุกคนเรียกร้องบุญคุณจากลูกศิษย์ไม่ได้ เป็นสิทธิและเป็นจิตสำนึกของเขาที่เขาจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็แล้วแต่) ในเมื่อเป็นเรือจ้างจะไปมีความผูกพันอะไรกันมากมาย จ่ายค่าโดยสาร เดินลงนั่งในเรือ ถึงฝั่งก็เดินขึ้นฝั่งไปก็จบกันไป ซึ่งไม่เหมือน “ความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์” ที่มีความผูกพันทางใจกันมากกว่านั้นยิ่งนัก ผู้เขียนคิดว่าความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์เป็นความผูกพันตลอดชีวิต นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้ศิษย์ของตนเองคิดเช่นนี้ แต่มันเป็นในทางกลับกันที่ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองผูกพันกับครูและลูกศิษย์ของตัวเองเช่นนั้น ต่อครูทุกวันนี้ก็ยังได้รับคำสั่งคำสอน คำชี้แนะจากครู ทั้งๆ ที่ครูหลายคนของผู้เขียนเกษียณกันไปเกือบหมดแล้ว บางคนก็ล้มหายตายจากแล้ว ก็ยังรู้สึกผูกพันทางใจอยู่ คงผูกพันกันจนกว่าเราจะตายไปอีกข้างหนึ่ง


ฉะนั้นงานเกษียณของครูที่ขี้นป้าย หรือสกรีนเสื้อที่ระลึกว่า “เรือจ้างวางพาย” นั้น ผู้เขียนแสลงหู แสลงตามาก เกษียณแล้วถึงขนาดกับต้อง “วางพาย” เลยเชียวหรือ? หน้าที่ครูจบกันที่เกษียณหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คำว่า “วางพาย” ก็เหมาะแล้วกับคำว่า “เรือจ้าง

ผู้เขียนสืบค้นข้อมูลว่าใครเป็นบุคคลต้นคำพูด “ครูคือเรือจ้าง” ยังไม่พบเจอข้อมูล ในพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.2555 มีคำว่า “เรือจ้าง” บรรจุไว้ ให้ความหมายไม่เกี่ยวข้องกับครูแต่อย่างใดเลย แต่ที่แน่ๆ ทั้งข้อมูลเชิงเอกสารและข้อมูลจากการสัมภาษณ์พระเถระที่เคารพนับถือรูปหนึ่งที่มีฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเปรียญธรรม 5 ประโยค เป็นพุทธศาสนบัณฑิต และมหาบัณฑิตทางด้านภาษาศาสตร์ ตำแหน่งด้านการปกครองเป็นเจ้าคณะตำบล ได้ข้อมูลมาว่ามีหลักฐานในนาวาสูตร (พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ว่า พระพุทธเจ้าทรงเปรียบครูว่าเป็น “คนพายเรือ” ทรงหมายความว่าคนที่เป็นครูสอนคนอื่นต้องมีคุณธรรม เป็นพหูสูต เป็นที่รักเคารพของศิษย์ มีวิจารณญาณ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงปฏิบัติธรรมถูกหลักการและเป้าหมาย ฉลาด รู้แจ้ง ทรงเปรียบเหมือนคนพายเรือที่มีหน้าที่พาคนอื่นข้ามฝั่ง การสามารถพาคนอื่นข้ามกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ ต้องเป็นคนมีความสามารถ มีความพร้อมในการพายการถ่อ และรู้วิธีการนำเรือฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว จนสามารถนำคนข้ามถึงฝั่งได้

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคำว่า “จ้าง” น่าจะมีการนำมาเติมกันเองภายหลัง นอกจากนี้และค้นพบข้อมูลว่า ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่าครูเป็น “กัลยาณมิตร” ของศิษย์ซึ่ง คุณมีสมบัติ 7 ประการคือ

1.เป็นที่รักของศิษย์ ทำตนให้ศิษย์รัก อยากเข้าใกล้ เข้าไปปรึกษาไต่ถาม
2.เป็นที่เคารพ มีความประพฤติดี เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

3.เป็นที่น่าเจริญใจ คือเป็นที่ภาคภูมิใจของศิษย์ว่าตนเป็นศิษย์มีครู และมีครูดี

4.รู้จักพูดให้ได้ผล สอนวิชาการแจ่มแจ้ง และพร่ำสอนให้ศิษย์เป็นคนดี
5.ทนต่อถ้อยคำ คืออดทนในการพร่ำสอนศิษย์ อดทนที่จะคอยรับฟังปัญหาของศิษย์

6.ทำเรื่องยากให้ง่าย วิชาการยากๆ มีวิธีสอนให้เข้าใจง่าย รวมถึงเรื่องง่ายๆ ที่คนมองข้ามก็ชี้ให้เห็นความสำคัญและคุณค่าได้

7.ไม่ชักจูงศิษย์ไปในทางต่ำ คือไม่ชักนำศิษย์ทำในสิ่งที่ไม่ดี หรือเรื่องเหลวไหล
อีกข้อมูลหนึ่ง ขออ้างข้อความในตำรา “จิตวิทยาการศึกษา” ของศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ โค้วตระกูล อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ว่า “คำว่า ‘เรือจ้าง’ ไม่เหมาะสม การใช้เปรียบกับครู น่าจะมีคำที่สูงส่งกว่านี้ อาชีพครูและงานของครูมิได้จำกัดอยู่เพียงการสอนหนังสือและการสอบไล่เพื่อส่งเด็กขึ้นชั้นสูงขึ้นไปจนกว่าจะจบการศึกษา ครูมีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กเติบโต เจริญขึ้นไปเต็มความสามารถที่เขามี โดยการสอน ฝึกฝน อบรมบ่มนิสัย เพื่อให้ศิษย์มีความรู้ความคิด ความสามารถและความดีงาม งานของครูหยั่งลึกลงสู่ความรัก ความเมตตาและความตั้งใจจริง ครูกับศิษย์จึงมีความผูกพันกันทางจิตใจ ด้วยความเข้าใจกันและกันเสมอ แตกต่างจากเรือรับจ้างโดยสิ้นเชิง เรือจ้างมีหน้าที่คอยรับส่งผู้โดยสารข้ามฟากให้ถึงฝั่งคนแล้วคนเล่า เพียงเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินตรา และส่งให้ถึงฝั่งด้วยความปลอดภัยเท่านั้น” (สุรางค์ โค้วตระกูล: 2541)

ฉะนั้นคำว่า “ครูคือเรือจ้าง” ผู้เขียนคิดว่าเลิกใช้เสียทีเถอะ อย่าไปอาลัยอาวรณ์เลย ภาษาย่อมมีการเกิด การตั้งอยู่ มีการเปลี่ยนแปลง และดับไปได้ตามกฎของไตรลักษณ์เหมือนสรรพสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง อย่าเอาคำว่า “จ้าง” มาเป็นพยางค์ท้ายของ “เรือ” แล้วเปรียบว่าเป็นครูเลย มันไม่ตรงกับสภาพที่แท้จริงของครู ผู้เขียนเองฟังไม่ได้ แสลงหูและแสลงความรู้สึกเหมือนที่บอก

เพลงบุญคุณที่สาม ที่แต่งโดยครูอร่าม ขาวสะอาด มีท่อนหนึ่งบอกว่า “…พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง ถ้าหากจะคิดยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู…” เป็นเนื้อความที่เหมาะสมมาก ตรงกับความรู้สึกของผู้เขียน

ที่เขียนมาทั้งหมดก็ใช่ว่าจะมา “ชักใบให้เรือเสีย” เพียงแต่ไม่อยากให้เลือกคำมาใช้เปรียบเทียบความเป็นครูด้วยคำที่ไม่สมต่อคุณค่าของครู

ไม่ใช่ครูหรอกที่เป็นเรือจ้าง…แป๊ะต่างหากที่เป็น “เรือจ้าง” คนลงเรือแป๊ะจึงต้องตามใจแป๊ะ จะล่มจะจมก็ต้องตามใจแป๊ะไว้ก่อน…แป๊ะไม่อยากเกษียณหรอกครับ…แป๊ะจึงเป็น “เรือจ้างไม่วางพาย”…คริคริ

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่



  





ปฏิกิริยาของคุณคืออะไร?

like

dislike

love

funny

angry

sad

wow